วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สื่อและเกมกับการพัฒนาสมอง


สื่อการสอน


สื่อการสอนที่ใช้ในการสอนมีหลายชนิดสำหรับเด็กปฐมวัยอาจกล่าวได้ว่าสิ่งใดก็ตามที่เป็นเครื่องช่วยให้เด็กวัยนี้มีพัฒนาการ นับว่าเป็นสื่อการสอนได้ทั้งสิ้น ได้แก่


             1. ครูเป็นสื่อที่นับได้ว่ามีความสำคัญยิ่งเพราะเป็นผู้ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในการเรียนรู้และเป็นสื่อที่จะนำสื่ออื่น ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนการสอน หากปราศจากครู การเรียนการสอนก็จะไม่มีผลต่อเด็กในวัยนี้อย่างแน่นอน

             2. สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ  สื่อชนิดนี้ครูหรือผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องจัดหาหรือทำขึ้น เพราะมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เพียงแต่ผู้ใช้จะต้องเลือกตามความมุ่งหมาย เช่น การสอนเรื่องวงจรชีวิตกบ ก็ควรเลือกฤดูกาลที่เหมาะสม คือ ฤดูฝน เพื่อจะได้นำสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติมาศึกษาได้ แทนที่จะใช้วิธีวาดภาพไข่กบ ลูกอ็อด และลูกกบ ประกอบคำอธิบาย เป็นต้น

             3. สื่อที่ต้องจัดทำขึ้น  สื่อชนิดนี้มีมากมายหลายชนิด สุดแต่ผู้ที่สนใจจะจัดซื้อ จัดหา หรือจัดทำขึ้น ได้แก่ ของจำลอง ภาพถ่าย ภาพวาด เกม วีดีทัศน์ ฯลฯ
นอกเหนือจากนี้ สื่อดังกล่าวอาจแบ่งออกตามลักษณะของการใช้ได้เป็น 3 ประเภทคือ

             1. สื่อการสอนประเภทวัสดุ เช่น ภาพ เปลือกหอย ฯลฯ
             2. สื่อการสอนประเภทอุปกรณ์ เช่น วิทยุ เครื่องเล่นวีดีโอ เครื่องรับโทรทัศน์ ฯลฯ
             3. สื่อการสอนประเภทวิธีการ กระบวนการจัดกิจกรรม เช่น การสาธิต การทดลอง เกม บทบาทสมมติ ฯลฯ



เด็กปฐมวัยคือใคร


          เด็กปฐมวัย คือเด็กๆที่มีอายุอยู่ในช่วง 5-8 ปีแรกของชีวิต เดิมเอาแค่ 5 ปีแรก ต่อมามีผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มคิดว่าน่าจะรวมถึงกลุ่มเด็กอายุ 8 ปี  หลังเกิดใหม่ๆเด็กยังไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก สมองของลูกคนถูกออกแบบมาให้มีความพร้อมในการพัฒนาอย่างเต็มที่ มองเห็น ได้ยิน รับรู้สัมผัสต่างๆได้ แต่ยังจำกัดอยู่มาก เพราะเด็กยังต้องการสภาพแวดล้อมภายหลังเกิดที่ช่วยกระตุ้นให้สมองเกิดการพัฒนาไปตามช่วงวัยอย่างต่อเนื่อง



              หากลองเปรียบเทียบเด็กแรกเกิดกับเมล็ดพันธุ์ของพืช หมายถึงเมื่อเมล็ดพันธุ์ไปตกอยู่ในที่ที่เหมาะสมเพียงพอ ทั้งสภาพดิน อากาศ แสงแดด เมล็ดก็จะค่อยๆงอกออกมาเป็นต้นไม้เล็กๆ และค่อยๆเติบโตขึ้นมา จนอาจสามารถออกดอกออกผลได้ในที่สุด ต้นไม้ต้นนั้นจะเติบโตได้เพียงใด ออกดอกออกผลได้มากน้อยเพียงใด ยังขึ้นอยู่กับพันธุ์เดิมของเมล็ดนั้นๆ ถ้าสายพันธุ์เดิมดี แข็งแรง ให้ผลมาก การมีสภาพแวดล้อมที่ดีก็ย่อมเป็นปัจจัยส่งเสริมกันต่อการเติบโตของต้นไม้ อย่างไรก็ตาม หากเราต้องการให้ต้นไม้เติบโตดีขึ้น ให้ดอกผลดียิ่งขึ้น มนุษย์เราสามารถคิดค้นวิธีการบางสิ่งบางอย่างเพื่อช่วยการเติบโตของต้นไม้เพิ่มเติม ทั้งการให้ปุ๋ยที่เหมาะสม การตัดต่อกิ่ง หรืออื่นๆ ทั้งหมดที่เกษตรกรทำก็คือการใส่ปัจจัยที่เอื้อต่อต้นไม้ให้มากที่สุดที่จะให้ผลผลิตตามที่ต้องการ
การเติบโตและพัฒนาของเด็กๆก็เช่นเดียวกันกับต้นไม้ สมองเด็กถูกออกแบบมาให้สามารถพัฒนาได้ในสิ่งแวดล้อมรอบตัว สมองเด็กจะค่อยๆปรับและพัฒนาตามสภาพแวดล้อมไปเรื่อยๆ ในช่วงปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในสมองอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นฐานให้กับการพัฒนาในช่วงถัดๆไป


เรียนรู้ด้วยการเล่น



เป็นที่ทราบกันดีว่า เด็กจะมีพัฒนาการที่ดีนั้น ต้องเริ่มจาการเรียนรู้ และการเรียนรู้ที่ดีนั้นก็คือ การเรียนรู้ด้วยการเล่น วันนี้เรามีคำแนะนำดีๆ จาก ผศ.นพ.ชาตรี วิฑูรชาติ จิตแพทย์เด็ก รพ.ศิริราช มาเล่าสู่ท่านผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกๆ มีพัฒนาการที่ดี ซึ่งพัฒนาการของเด็กจะผ่านการเล่นเป็นสื่อกลาง ตั้งแต่การพัฒนาสติปัญญา ภาษาการสื่อสารของกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่และสังคมจริยธรรม 

          การเล่นของเด็ก ดูเหมือนเป็นเรื่องเล่นๆ แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องที่สำคัญและมีคุณค่ามหาศาล ไม่ว่าจะเล่นด้วยวิธีใด ก็เป็นการส่งเสริมพัฒนาการเด็กทั้งสิ้น เรามาดูซิว่า การเล่นแต่ละอย่างของเด็กนั้น ให้ความสำคัญต่อร่างกายของเขาอย่างไร


กล้ามเนื้อมัดเล็ก หมายถึง การใช้มือ การหยิบจับ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการที่เด็กจะพัฒนาการ การเขียน การทำงานในชีวิตประจำวัน และการช่วยเหลือตัวเอง


กล้ามเนื้อมัดใหญ่ คือ กล้ามเนื้อแขนขา การทรงตัว ทำให้เด็กสุขภาพดี แข็งแรง คล่องแคล่ว ทะมัดทะแมงเล่นกีฬาได้ดี


          ด้านสังคมและจริยธรรม การที่เด็กเล่นเป็นกลุ่ม จะเรียนรู้การปรับตัวอยู่กับผู้อื่น พอใจที่จะอยู่ร่วมกับสังคมและมีกิจกรรมร่วมกัน รวมทั้งเรียนรู้ว่าทำอย่างไรให้เป็นที่ ยอมรับของคนอื่น (การเล่นของเด็กโตก็จะมีกติกาเกิดขึ้น นั้นก็คือ พื้นฐานที่เด็กจะได้พัฒนาในด้านของการที่จะเติบโตขึ้นมาอยู่ในกฎระเบียบของครอบครัว โรงเรียน และสังคมได้)


          ด้านภาษา ในการเล่นหลายๆ อย่าง เด็กจะต้องมีการพูดจา สื่อสาร มีการตอบโต้ โดยเฉพาะการเล่นบางอย่างจะต้องใช้การพูดในการเล่น เช่น การเล่นเป็นหมอ พยาบาล พ่อแม่ลูก เป็นการพัฒนาทางด้านภาษาอย่างดี


          ในแต่ละวัย แน่นอนว่าจะมีการเล่นที่แตกต่างกัน เนื่องจากความพร้อมทางร่างกายและระดับพัฒนาการของสมองต่างกัน ซึ่งมีความสำคัญมากถ้าพ่อแม่เข้าใจว่าในแต่ละวัยเหมาะที่จะเล่นอะไร พ่อแม่จะได้ช่วยสนับสนุนส่งเสริมได้อย่างถูกต้อง  จริงๆ แล้วเด็กนั้นชอบเล่นตั้งแต่แรกเกิด อย่าคิดว่าเด็กเล็กๆ จะเล่นอะไรไม่เป็น เราจะเห็นว่า ปัจจุบันนี้จะมีของเล่นสำหรับเด็กตั้งแต่วัยขวบปีแรกซึ่งยังเดินไม่ได้ ของเล่นวัยนี้ควรจะมีสีสันสดใส ของที่เคลื่อนไหวได้มีเสียงดัง หยิบได้เขย่าได้ กลิ้งได้ ของเล่นวัยนี้จะทำให้เด็กได้พัฒนาในด้านของการใช้มือ การมองตามความเคลื่อนไหว สีสันสดใสจะทำให้มองตาม เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดย่อย

          การเล่นของเด็กช่วงขวบปีแรก มักเป็นการเล่นคนเดียว เด็กที่โตขึ้นคือประมาณ 2-3 ขวบ เด็กจะเริ่มเล่นรวมกลุ่ม เมื่อเด็กเห็นคนอื่นเล่น ก็จะสนใจและเดินเข้ามาเล่นด้วย แต่เวลาเล่นกลับเล่นคนเดียว ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กัน ของเล่นเด็กวัยนี้จะเป็นของเล่นที่เริ่มใช้กล้ามเนื้อมัดย่อยและมัดใหญ่เข้ามาบ้าง เช่น การขีดเขียนของเล่น ตอก เรียง เตะ ขว้างเกิดขึ้นบ้าง สามารถที่จะเรียงบล็อก สามารถต่อภาพจิ๊กซอร์ได้บ้าง เล่นตุ๊กตาได้ เมื่อเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป ก็จะเริ่มเล่นเป็นกลุ่ม แบบมีปฏิสัมพันธ์กัน วัยนี้จะชอบเล่นซุกซนวิ่ง ปีนป่าย กระโดดในที่กว้าง เช่น วิ่งเล่น ไล่จับ ไปวิ่งเล่น ไปขี่จักรยานเล่นเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น

          เมื่ออายุ 6 ขวบขึ้นไป จะเพิ่มการเล่นแบบเกมซึ่งมีกติกาจะเริ่มเข้ามา เช่น หมากฮอส เกมเศรษฐี งูไต่บันได ซึ่งเด็กวัยนี้จะเริ่มเข้าใจกติกาการเล่นได้บ้างแล้ว เด็กจะเริ่มสนใจกีฬามากขึ้นเช่น ปิงปอง, แบดมินตัน, ฟุตบอล การเล่นวัยนี้จะช่วยพัฒนาในเรื่องของการเข้าสังคมได้มาก แน่นอน พ่อแม่จะมีบทบาทสำคัญที่ช่วยส่งเสริมลูกน้อยในด้านพัฒนาการ แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจ และเห็นความสำคัญก่อนว่า การเล่นนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก และมีประโยชน์ต่อพัฒนาการสมองเด็กมาก เพราะปัจจุบันหลายครอบครัวมักเน้นไปที่เรื่องของการเรียนอย่างเดียว ทำให้เด็กไม่ได้เล่นอย่างเหมาะสม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเหลือลูกน้อยได้โดยสร้างทัศนคติที่เหมาะสม พ่อแม่มีส่วนชักจูงและเป็นแบบอย่างให้เด็กเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเล่นกีฬา พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างปลูกฝัง ให้เด็กดูและเห็นว่า การออกกำลังกายและเล่นกีฬาเป็นประโยชน์ ซึ่งเด็กจะได้ร่วมกิจกรรมมากขึ้น และที่สำคัญมากก็คือ การที่พ่อแม่ร่วมเล่นกับเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 - 6 ปี จะช่วยให้เด็กเล่นได้อย่างสร้างสรรค์และได้ประโยชน์เต็มที่ มีจินตนาการ มีพัฒนาการอย่างถูกต้อง นอกจากที่เด็กจะได้รับความสนุกสนาน การชี้แนะจากพ่อแม่ และความผูกพัน ใกล้ชิด มีการเรียนรู้ซึ่งกันและกันเกิดขึ้นในระหว่างนั้นจัดเวลา กิจวัตรประจำวันให้เหมาะสม ให้มีโอกาสได้เล่นสม่ำเสมอทุกวัน  เตรียมอุปกรณ์ สนับสนุน เช่น ของเล่น อุปกรณ์กีฬา รวมทั้งหาสถานที่เหมาะสมที่ต้องใช้ในการเล่น

          ตรงกันข้ามกับเด็กที่ไม่ได้เล่นหรืออยู่กับผู้ใหญ่ที่ไม่ชอบเล่นกับเด็กหรือสุขภาพไม่ดี เล่นไม่ไหว เด็กไม่รู้จะเล่นกับใคร จะมีผลกระทบในด้านของบุคลิกลักษณะคือ อาจเป็นเด็กไม่ร่าเริงแจ่มใส ทักษะทางสังคมน้อย ปรับตัวไม่ดี ไม่ทะมัดทะแมงคล่องแคล่วว่องไว ความตื่นตัวสนใจสิ่งแวดล้อมน้อย รวมทั้งส่งผลถึงการพัฒนาการทางสติปัญญาไม่เต็มที่ด้วย

          ยิ่งในปัจจุบันนี้ มีการเล่นที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ได้ประโยชน์มากมาย ซึ่งอาจทำให้เด็กติดเช่น เล่นวิดีโอเกม คอมพิวเตอร์เกมจะส่งผลเสียต่อเด็ก ซึ่งใช้เวลามากมายทำให้เด็กไม่ได้ออกกำลังกาย และอาจมีความก้าวร้าวและกระตุ้นทางเพศแฝงเข้ามาด้วย พ่อแม่จึงต้องให้ความสำคัญ และให้เวลาเกี่ยวกับการเล่นของลูกน้อยให้เล่นเหมาะสมตามวัยและเพียงพอทุกวัน



จิตวิทยาพัฒนาการสำหรับเด็กปฐมวัย


จิตวิทยาการพัฒนาการของเด็กปฐมวั

พัฒนาการของเด็กวัยต่าง ๆ จะมีความแตกต่างกัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะวัยที่สามารถจำแนกให้เห็นเป็นลักษณะเด่นประจำวัยได้ และพัฒนาการของเด็กปฐมวัยนั้นเป็นพื้นฐานในการเข้าใจพฤติกรรมที่เป็นปกติธรรมดาของเด็กวัยนี้ สมพร สุทัศนีย์ (2547:9) ได้กล่าวถึงพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ( Preschool Child) ดังต่อไปนี้

         1. พัฒนาการทางกาย เด็กวัยนี้นับว่าเป็นเด็กวัยตอนต้นที่มีส่วนสูงและน้ำหนักเพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็วแต่จะขยายออกทางส่วนสูงมากกว่าด้านข้างกล้ามเนื้อและกระดูกจะเริ่มแข็งแรงขึ้น แต่กล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวยังเจริญไม่เต็มที่การประสานงานของอวัยวะต่าง ๆ ยังไม่ดีพอจากการศึกษาของGesell และคนอื่น ๆ เด็กอายุ 3-5 ขวบ มีพัฒนาการทางกายแตกต่างกัน บางคนสามารถทรงตัวได้ดี วิ่งได้เร็วขึ้น ควบคุมการเดิน วิ่งให้ช้าลงและเร็วได้ กระโดดไกล ๆ ได้ เต้นและกายบริหารได้ตามจังหวะดนตรี การประสานงานของกล้ามเนื้อดีขึ้น

          2. พัฒนาการทางอารมณ์ เด็กวัย 3-5 ขวบ มักจะเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ และจะแสดงอารมณ์และจะแสดงอารมณ์ต่าง ๆ ออกมาอย่างเปิดเผยและมีอิสระเต็มที่ เด็กวัยนี้มักมีความกลัวอย่างสุดขีดอิจฉาอย่างไม่มีเหตุผล โมโหร้าย การที่เด็กมีอารมณ์เช่นนี้อาจจะเป็นเพราะเด็กมีประสบการณ์กว้างขึ้นเพราะเงื่อนไขทางสังคมตั้งแต่สังคมภายในบ้านจนกระทั่งถึงสังคมภายนอกบ้านเด็กเคยได้รับแต่ความรักความเอาใจใส่จากพ่อแม่และผู้ที่ใกล้ชิด เมื่อต้องพบกับคนนอกบ้านซึ่งไม่สามารถเอาใจใส่เด็กได้เท่าคนในบ้านและไม่สามารถที่จะเอาใจใส่ได้เหมือนเมื่อเด็กเล็ก ๆ อยู่เด็กจึงรู้สึกขัดใจเพราะคิดว่าตนเป็นคนที่มีความสามารถกว่าคนอื่น เด็กจะยกย่องบูชาตนเองและพยายามปรับตัวเพื่อต้องการให้เป็นที่รักและเป็นที่ยอมรับของบุคคลข้างเคียงในวัยนี้มักจะใช้คำพูดแสดงอารมณ์ต่างๆ แทนการรุกรานด้วยกำลังกายเพราะพัฒนาการทางร่างกายยังไม่โตเต็มที่ เด็กแต่ละคนมีอารมณ์ไม่เหมือนกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสุขภาพ การอบรมเลี้ยงดูจากพ่อแม่และสภาพแวดล้อมทางสังคม เช่น เด็กที่เติบโตขึ้นจากสภาพแวดล้อมสงบเงียบได้รับความรักเอาใจใส่ และการตอบสนองความต้องการสม่ำเสมอพ่อแม่มีอารมณ์คงเส้นคงวาเด็กก็จะเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีอารมณ์มั่นคงกว่า เด็กที่มีสภาพ แวดล้อมที่ตรงกันข้าม เหล่านี้เป็นต้น

           3. พัฒนาการทางสังคม คำว่าสังคมในที่นี้ หมายถึง การติดต่อสัมพันธ์ การผูกพันและการมีชีวิตอยู่ร่วมกัน เด็กปฐมวัยหรือวัยก่อนเข้าเรียนได้เรียนรู้เข้าใจ และใช้ภาษาได้ดีขึ้นพ่อแม่และผู้ที่อยู่ใกล้ชิดตลอดจนครูที่อยู่ในชั้นอนุบาลได้อบรมสั่งสอนเพื่อให้เด็กเข้าใจถึงวัฒนธรรมค่านิยมและศีลธรรมทีละน้อย โดยเริ่มจากสิ่งที่ง่าย เช่น การพูดจาสุภาพ การเคารพกราบไหว้ ฯลฯ เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ดังนั้นเมื่อเด็กเข้าไปอยู่ในโรงเรียนอนุบาลจะรู้จักคบเพื่อนรู้จักการผ่อนปรน รู้จักอดทนในบางโอกาส รู้จักการให้และการรับ Piaget นักจิตวิทยากลุ่มที่เน้นความรู้ความเข้าใจ (Cognitive) กล่าวว่า เด็ก 3-5 ขวบ เรียนรู้พฤติกรรมทางสังคมจากเพื่อนในโรงเรียนอนุบาลหรือเพื่อนบ้านวัยเดียวกันแต่เด็กวัยนี้ยังเข้าใจถึงความถูกต้องและความไม่ลึกซึ้งนักดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้เด็กวัยนี้ได้พัฒนาในเรื่องการยอมรับการแยกตัวจากพ่อแม่ฝึกให้มีความเชื่อมั่นเมื่ออยู่กับคนอื่นให้เด็กเข้าใจระเบียบและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ฝึกให้รู้จักการแบ่งปันและการผลัดเปลี่ยนกันและรู้จักอดใจรอในโอกาสอันควร

           4. พัฒนาการทางสติปัญญา เด็กวัยนี้มีความสามารถในการใช้ภาษาได้อย่างดีเด็กจะเรียนรู้ศัพท์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉลี่ยเด็กอายุ 3 ขวบ จะรู้จักศัพท์ประมาณ 3,000 คำ และเด็กสามารถใช้คำ วลี และประโยคในการแสดงบทบาทตามแบบอย่างโทรทัศน์ได้ รู้จักใช้ท่าทางประกอบคำพูดเด็ก 4 ขวบช่างซักช่างถามมักจะมีคำถามว่า ทำไม” “อย่างไรแต่ก็ไม่สนใจคำตอบและคำอธิบายคำพูดของเด็กวัยนี้สามารถพูดประโยคยาว ๆ ที่ต่อเนื่องกันได้ สามารถ เล่านิทานสั้นๆ ให้จบได้และมักจะเอาเรื่องจริงปนกับเรื่องสมมติ สำหรับเด็กวัย 5 ขวบ พัฒนาการทางภาษาสูงมากเด็กสามารถตอบคำถามตรงเป้าหมาย ชัดเจนและสั้น การซักถามน้อยลง แต่จะสนใจเฉพาะเรื่องไป ควรจัดให้เด็กได้มีโอกาสพูดให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็ต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย และควรหมุนเวียนกันออกมาพูดทุกคนการจินตนาการและการสร้างเรื่องจะพบมากในเด็กวัยนี้ จึงเป็นโอกาสเหมาะที่ควรจะได้สนับสนุนและส่งเสริมจินตนาการของเด็กให้มากที่สุดแต่เด็กวัยนี้ไม่มีพัฒนาการที่เกี่ยวกับการจัดประเภทของสิ่งของเป็นหมวดหมู่ ไม่มีพัฒนาการในเรื่องความคงตัว ในเรื่องขนาดน้ำหนักและปริมาตรทั้งนี้เป็นเพราะเด็กยังไม่มีความเข้าใจ ยังไม่มีเหตุผลและประเมินค่าสิ่งต่าง ๆตามที่เห็นด้วยตาเท่านั้นจะเห็นได้ว่าเด็กก่อนวัยเรียนนี้มีพัฒนาการทางร่างกายที่กำลังเจริญเติบโตภาวะอารมณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และสังคมรอบด้านเริ่มมีสังคมมีการเรียนรู้สิ่งที่ควรทำไม่ควรทำฝึกการเป็นผู้ให้และเป็นผู้รับและมีพัฒนาการทางสติปัญญาที่ดีอยู่ในวัยที่อยากรู้ อยากเห็นอยากทำ เรียนรู้เร็วเป็นแนวทางที่ครูผู้สอนควรจะสังเกต และเข้าใจในพฤติกรรมของเด็กก่อนจะดำเนินการสอนและให้ความรู้ต่าง ๆ กับเด็กก่อนวัยเรียนเหล่านี้


การจัดการศึกษาปฐมวัย



            การจัดการศึกษาปฐมวัย”  หมายถึง  การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 ปี (5  ปี  11 เดือน  29 วัน )  ซึ่งการจัดการศึกษาดังกล่าวจะมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างไปจากระดับอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะเด็กในวัยนี้เป็นวัยที่สำคัญต่อการวางรากฐานบุคลิกภาพและการพัฒนาทางสมอง  การจัดการศึกษาสำหรับเด็กในวัยนี้มีชื่อเรียกต่างกันไปหลายชื่อ  ซึ่งแต่ละโปรแกรมก็มีวิธีการและลักษณะในการจัดกิจกรรมซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยพัฒนาเด็กในรูปแบบต่าง ๆ กัน

การจัดการศึกษาปฐมวัยควรมีส่วนช่วยให้เด็กเกิดพัฒนาการและการเรียนรู้อย่างเต็มที่  ซึ่งแนวคิดในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กในวัยนี้ทุกรูปแบบควรมีส่วนสำคัญดังที่มาสโซเกลีย (Massoglia. 1977 : 34 )  กล่าวเอาไว้ ดังนี้      
1.  เป็นการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทุกด้าน  นับตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเริ่มเข้าเรียนในระดับโรงเรียน            2.  วางพื้นฐานทางสุขภาพอนามัยให้กับเด็กตั้งแต่ต้นรวมทั้งเด็กที่มีข้อบกพร่องต่าง ๆ            
3.  สิ่งแวดล้อมทางบ้านควรมีส่วนช่วยให้เด็กเจริญเติบโต และพัฒนาในทุก ๆ ด้าน            
4.  พ่อแม่ควรเป็นครูคนแรกที่มีความสำคัญต่อลูก            
5.  อิทธิพลจากทางบ้านควรมีผลต่อกระบวนการในการพัฒนาเด็ก

ความสำคัญของการศึกษาปฐมวัย                           
             ความสำคัญของการศึกษาปฐมวัยคือการที่ครูจะสอนได้ดีนั้นจำเป็นต้องศึกษาเด็ก  ยิ่งกว่านั้นงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาการทางสมองมนุษย์ยั้งเน้นความสำคัญของการศึกษาปฐมวัยโดยเฉพาะในช่วงของ5 ของปีแรกของชีวิตว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนรู้ และเด็กจำเป็นต้องได้รับการดูแล เอาใจใส่จากพ่อแม่หรือผู้ดูแลตั้งแต่แรกเกิดโดยการให้ความรัก การโอบกอด สัมผัส พูดคุย และเล่นกับเด็กเพื่อให้สมองของเด็กได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ตามศักยาภาพ การเข้าใจพัฒนาเด็กส่งผลดีต่อครูผู้สอนหลายประการ ผลดีประการหนึ่งคือ ช่วยให้ครูเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของเด็กได้ดียิ่งขึ้น ยังสามารถวางแผนหลักสูตร การเรียนการสอนได้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนได้มากขึ้นศักยาภาพ การเข้าใจพัฒนาเด็กส่งผลดีต่อครูผู้สอนหลายประการ ผลดีประการหนึ่งคือ ช่วยให้ครูเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของเด็กได้ดียิ่งขึ้น ยังสามารถวางแผนหลักสูตร การเรียนการสอนได้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนได้มากขึ้น




จุดมุ่งหมายการจัดการศึกษาปฐมวัย                          
              หลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย มุ่งให้เด็กพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย ความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคล จึงกำหนดจุดมุ่งหมายซึ่งถือเป็นมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ได้ ดังนี้ (กระทรวงศึกษาธิการ 2546:31)   

1. ร่างกายเจริญเติบโตตามวัยและมีสุขนิสัยที่ดี     
2. กล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็กแข็งแรง ใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว และประสานสัมพันธ์กัน     
3. มีสุขภาพจิตที่ดีและมีความสุข     
4. มีคุณธรรม จริยธรรม และมีจิตใจดีงาม    
5. ชื่นชมและแสดงออกทางศิลปะ ดนตรี การเคลื่อนไหว และรักการออกกำลังกาย    
6. ช่วยเหลือตนเองได้เหมาะสมกับวัย    
7. รักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และความเป็นไทย     
8. อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมในระบอบ         ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข     
9. ใช้ภาษาสื่อสารได้เหมาะสมกับวัย     
10. มีความสามารถในการคิดและการแก้ปัญหาได้เหมาะสมกับวัย     
11. มีจิตนาการและความคิดสร้างสรรค์    
12. มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ และมีทักษะในการแสวงหาความรู้